วันจันทร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2553

วัดวรนาถบรรพต (พระอารามหลวง)






วัดวรนาถบรรพต เป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดสามัญ ตั้งอยู่เลขที่ ๑๘๘ ถนนธรรมวิถี ตำบลปากน้ำโพ อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินที่ตั้งวัดมีเนื้อที่ ๑๐๙ ไร่ ๑ งาน ๑๐ ตารางวา โฉนดที่ดินเลขที่ ๙๖๓๖ ตั้งวัดเมื่อ วันที่ ๒๑ เดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๒ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๒๒ เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๑ เขตวิสุงคามสีมา กว้าง ๔๐ เมตร ยาว ๘๐ เมตร ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระอารามหลวง เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๔

อาณาเขต ทิศเหนือ จดถนนสระสวรรค์
ทิศใต้ จดถนนธรรมวิถี
ทิศตะวันออก จดถนนธรรมวิถี ซอย ๕
ทิศตะวันตก จดถนนมธรรมวิถี ซอย ๙

ประวัติความเป็นมา

วัดวรนาถบรรพต ตั้งเมื่อ พ.ศ. ๑๙๖๒ ในสมัยสุโขทัย ผู้สร้างคือพญาบาลเมือง สร้างขึ้นเพื่ออุทิศแด่พญารามผู้น้อง ซึ่งได้สิ้นพระชนม์ในระหว่างทำศึกสงครามกับหัวเมืองฝ่ายใต้ ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ปรากฏในศิลาจารึก ๒ หลัก ซึ่งทางกรมศิลปากรได้ไปจากยอดเขากบใกล้กับรอยพระพุทธบาทจำลอง และได้จากเมืองนครชุม จังหวัดกำแพงเพชร วัดวรนาถบรรพต เดิมมีชื่อเรียกว่า “วัดกบ” หรือ “ วัดเขากบ” เหตุที่มีชื่อเรียกเช่นนี้ก็เพราะเรียกตามชื่อของภูเขา ซึ่งวัดนี้ตั้งอยู่เชิงเขากบ หรือมีชื่อเรียกตามหลักฐานในศิลาจารึกสมัยสุโขทัยอีกชื่อหนึ่งว่า “วัดปากพระบาง” ต่อมาท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี) อดีตอธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏ์ กรุงเทพฯ ซึ่งสมัยนั้นท่านเจ้าคณะมณฑลได้มาตรวจการคณะสงฆ์จังหวัดนครสวรรค์ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัตเห็นว่า “วัดกบ” หรือ “วัดเขากบ” ตั้งอยู่ที่เชิงเขาจึงได้เปลี่ยนชื่อให้ใหม่และเรียกเป็นทางการว่า “วัดวรนาถบรรพต” อย่างไรก็ตามประชาชนโดยทั่วไปมักเรียกชื่อ วัดกบ หรือ วัดเขากบ กันจนติดปากมาจนตราบเท่าทุกวันนี้

วัดวรนาถบรรพต เป็นวัดเก่าแก่ของจังหวัดนครสวรรค์ ตั้งอยู่เชิงเขากบเลขที่ ๑๘๘ ถนนธรรมวิถี ตำบลปากน้ำโพ อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีเนื้อที่ดิน ๑๐๙ ไร่ ๑ งาน ๑๐ ตารางวา วัดนี้มีปูชนียวัตถุที่สำคัญ ได้แก่เจดีย์ใหญ่สร้างในสมัยสุโขทัย พระพุทธไสยาสน์ (พระนอน) ยาวประมาณ ๑๐ วาเศษ อุโบสถหลังเก่า ซึ่งมีรูปปั้น ตากบ-ยายเขียด ที่หลวงพ่อทองสร้างอยู่ด้านหน้า บนยอดเขากบก็เป็นส่วนหนึ่งของวัดมีปูชนียวัตถุที่สำคัญเช่นกันคือ รอยพระพุทธบาทจำลองสมัยสุโขทัย ประดิษฐานอยู่ในวิหาร เจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พระพุทธรูปหินปางนาคปรกสมัยเชียงแสน เป็นต้น

ในอดีตวัดวรนาถบรรพต เคยเป็นวัดร้าง มีซากปรักหักพังของสิ่งก่อสร้างต่างๆ หลงเหลืออยู่ได้แก่ซุ้มเสมาของอุโบสถ ซากวิหารพระพุทธไสยาสน์ (พระนอน) เจดีย์ใหญ่ และรอยพระพุทธบาทจำลอง บนยอดเขากบ สภาพบริเวณวัดเป็นป่าไม้รวก และปกคลุมด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ บริเวณนอกวัด มีคูรอบวัด สันนิษฐานว่าวัดนี้สร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย ดังปรากฏในศิลาจารึกสมัยสุโขทัย ๒ หลัก คือ หลักศิลาจารึกหลักที่ ๒๐ มีขนาดสูง ๘๐ ซม. กว้าง ๔๗ ซม. หนา ๖ ซม. ผู้ค้นพบคือพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งค้นพบเมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๔๖๔ ที่ยอดเขากบปัจจุบัน กรมศิลปากรได้นำไปเก็บรักษาไว้ที่หอสมุดวชิรญาณท่าวาสุกรี กรุงเทพมหานคร (มนต์ชัย เทวัญวโรปกรณ์ ๒๕๒๖ : ๘๑๐) จากข้อความในสิลาจารึกหลักที่ ๒๐ ได้กล่าวถึงพญาบาลเมืองสร้างวัดเขากบ มีเจดีย์วิหารขุดตระพังปลูกบัวนานาพรรณเพื่อเป็นพุทธบูชา ปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์ในรามอาวาส สร้างพุทธปฏิมาดูงามนักงามหนาในวิหาร เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่พญารามผู้น้องซึ่งมาสิ้นพระชนม์ลง ณ สถานที่แห่งนี้ เมืองพระบางที่กล่าวไว้ในศิลาจารึก คือเมืองนครสวรรค์ เดิมซากของเมืองตั้งอยู่บนที่ดอนตั้งแต่ชายเขาฤาษีลงมาจรดวัดหัวเมือง มุมเมืองอยู่ตรงวัดนั้น ยังพอมีแนวแลเห็นเป็นหลักฐานในปัจจุบัน

ส่วนศิลาจารึกหลักที่ ๒๑ ชื่อศิลาจารึกรอยพระพุทธบาทจำลอง เหมือนจอมเขาสุมนกูฏบรรพตเมืองพระบาง คือวัดเขากบ อำเภอเมืองฯ จังหวัดนครสวรรค์ เป็นศิลาแผ่นสี่เหลื่อมผืนผ้า ยาว ๒๐๒ ซม. กว้าง ๑๑๖ ซม. ตรงกลางเป็นรอยพระพุทธบาทค้นพบเมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๔๖๔ ที่เมืองนครชุม จังหวัดกำแพงเพชร โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ (มนต์ชัย เทวัญวโรปกรณ์ ๒๕๒๖ : ๘๑๑) ใจความในศิลาจารึกกล่าวถึงพญาธรรมิกราช คือพระเจ้าลิไทแห่งกรุงสุโขทัยได้นำเอารอยพระพุทธบาทจำลองที่ได้มาจากลังกาทวีป มาประดิษฐานไว้บนยอดเขาปากพระบาง คือยอดเขากบ จังหวัดนครสวรรค์ สำหรับเรื่องรอยพระพุทธบาทนี้ ชาวลังกาอธิบายตำนานมีอยู่ในเรื่องมหาวงศ์ว่า ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จไปยังลังกาทวีปทรงสั่งสอนพวกชาวเกาะจนเกิดความเลื่อมใส แล้วจะเสด็จกลับไปยังมัชฌิมประเทศ จึงทำ ปาฏิหาริย์เหยียบรอยพระพุทธบาทประดิษฐานไว้บนยอดเขา สำหรับให้ชาวลังกาบูชาต่างพระองค์ อนึ่ง การสร้างรอยพระพุทธบาทจำลองที่เกิดขึ้นในอาณาจักรสุโขทัย ตามหลักฐานในศิลาจารึก เริ่มครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๑๙๐๒ โดยพระเจ้าลิไท กษัตริย์องค์ที่ ๕ แห่งราชวงศ์สุโขทัยทรงเอาอย่างคติเมืองลังกาทวีป และทรงถือแบบรอยพระพุทธบาทที่ประดิษฐานไว้เหนือจอมเขาสุมนกูฏบรรพตเป็นหลัก จึงได้ตั้งชื่อจอมเขาต่างๆ ในอาณาจักรสุโขทัยที่พระองค์ให้ประดิษฐานพระพุทธบาทจำลองไว้ให้ชื่อจอมเขาสุมนกูฏบรรพตอย่างลังกา ดังรอยพระพุทธบาทจำลองเหนือจอมเขาสุมนกูฏบรรพตอย่างลังกา ดังรอยพระพุทธบาทจำลองเหนือจอมเขาสุมนกูฏบรรพตเมืองพระบาง คือรอยพระพุทธบาทจำลองบนยอดเขากบ จังหวัดนครสวรรค์นั่นเอง แต่จากหลักฐานทางเมืองสุโขทัยกล่าวว่ารอยพระพุทธบาทจำลองที่พระเจ้าลิไทนำมาในสมัยนั้น เป็นรอยพระพุทธบาทที่ทางลังกาทวีปได้ส่งมาเป็นบรรณาการแก่กรุงสุโขทัย ที่ได้จัดส่งพระสงฆ์ไทยไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาและได้ตั้งนิกายสยามวงศ์ขึ้นที่ลังกาสมัยนั้น รอยพระพุทธบาทจำลองที่ส่งมามี ๒ รอยด้วยกัน คือรอยซ้ายประดิษฐานไว้ที่ยอดเขาปากพระบางคือเขากับ นครสวรรค์ รอยขวานำขึ้นไปยังเมืองสุโขทัย ประดิษฐานไว้ที่วัดตระพังทอง ซึ่งยังคงมีหลักฐานปรากฏอยู่ในปัจจุบันนี้ก็เป็นหลักฐานอีกทางหนึ่ง อย่างไรก็ตามรอยพระพุทธบาทจำลองบนยอดเขากบก็ถือว่าเป็นสมบัติอันล้ำค่าของวัดและของชาวจังหวัดนครสวรรค์

จากหลักฐานในศิลาจารึกทั้ง ๒ หลัก ประกอบกับหลักฐานอื่นๆ นักโบราณคดีจึงสันนิษฐานได้ว่าวัดวรนาถบรรพต หรือวัดกบ หรือวัดเขากบ หรือวัดปากพระบาง สร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย ซึ่งจะเห็นได้ว่า มีปูชนียวัตถุที่สร้างขึ้นในสมัยสุโขทัยปรากฏอยู่ ได้แก่ รอยพระพุทธบาทจำลองบนยอดเขากบ เจดีย์ใหญ่ ทรงระฆังครอบ พระพุทธไสยาสน์ เจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุบนยอดเขากบเป็นต้น แต่เนื่องจากวัดวรนาถบรรพต หรือวัดเขากบ หรือวัดปากพระบางเป็นวัดเก่าแก่สมัยสุโขทัย และเคยเป็นวัดร้างมานานจึงไม่ทราบว่าใครเป็นเจ้าอาวาสบ้าง จนในปี พ.ศ. ๒๔๑๕ หลวงพ่อทอง ได้เดินธุดงค์จากจังหวัดอุตรดิตถ์ผ่านมาพบเห็นสภาพวัดเขากบ เป็นวัดร้างปกคลุมด้วยป่าไผ่ และต้นไม้น้อยใหญ่ จึงปักกลดพัก ท่านได้รับการขอร้องจากชาวบ้าน และนิมนต์ให้อยู่บูรณะวัดร้างมาเป็นวัดที่มีพระสงฆ์ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ต่อมา คณะสงฆ์ได้ส่งพระสมุห์ทองใบ (พระครูนิวิฐธรรมคุณ) มาช่วยเหลือหลวงพ่อ และได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสสืบต่อมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๘๕ ถึง พ.ศ. ๒๕๐๖ เมื่อพระครูนิวิฐธรรมคุณ (ทองใบ) มรณภาพลง คณะสงฆ์จังหวัดนครสวรรค์ จึงได้แต่งตั้งให้พระมหาวิศิษฏ์ ปญฺญาปโชโต ป.ธ.๖ วัดนครสวรรค์มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๗ จนถึงปัจจุบัน ซึ่งปัจจุบันพระเดชพระคุณ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ในราชทินนามที่ “พระเทพญาณมุนี” รองเจ้าคณะภาค ๔ นับตั้งแต่พระเดชพระคุณ มาเป็นเจ้าอาวาสได้บูรณปฏิสังขรณ์ จนวัดวรนาถบรรพต ได้รับคัดเลือกให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างของกรมการศาสนา เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๙ และได้รับการคัดเลือกให้เป็นวัดพัฒนาดีเด่นโดยได้รับประทานพัดพัฒนาและประกาศนียบัตร จากสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๓ เป็นต้นมา

วัดวรนาถบรรพต ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๑๙๖๒ ครั้งหลังเมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๑ เขตวิสุงคามสีมากว้าง ๔๐ เมตร ยาว ๘๐ เมตร

ทรัพย์สิน

อุโบสถ กว้าง ๑๒.๐๐ เมตร ยาว ๓๖.๐๐ เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๖
เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กแบบทรงไทย หลังคา ๓ ลด พื้นและผนังปูด้วยหินอ่อนหลังคามุง ด้วยกระเบื้องเคลือบสีดินเผา มีวิหารคตรอบ ๓ ด้าน ภายในมีจิตรกรรมฝาผนัง
วิหาร กว้าง ๑๒.๐๐ เมตร ยาว ๑๖.๐๐ เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๓
เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กแบบทรงไทย หลังคามุงด้วยกระเบื้องซีแพค
ศาลาการเปรียญ กว้าง ๓๙.๐๐ เมตร ยาว ๔๕.๐๐ เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๔
เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กแบบทรงไทยชั้นเดียว หลังคามุงด้วยกระเบื้องเคลือบสีดินเผา
กฏิสงฆ์ จำนวน ๑๕ หลัง สร้างด้วยไม้ จำนวน ๒ หลัง สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก
จำนวน ๑๒ หลัง ครึ่งตึกครึ่งไม้ จำนวน ๑ หลัง
กุฏิเจ้าอาวาส ๑ หลัง สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๙ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กแบบทรงไทย ๒ ชั้น
ศาลาเอนกประสงค์ กว้าง ๖.๕๐ เมตร ยาว ๑๘.๐๐ เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๓ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก หลังคามุงด้วยกระเบื้องซีแพค
ศาลาบำเพ็ญกุศล จำนวน ๓ หลัง สร้างด้วยไม้ จำนวน - หลัง สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก
จำนวน ๓ หลัง ครึ่งตึกครึ่งไม้ - หลัง
ฌาปนสถาน กว้าง ๑๓.๗๐ เมตร ยาว ๘.๔๐ เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๓ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก
หอระฆัง กว้าง ๑๓.๐๐ เมตร ยาว ๘.๔๐ สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๔ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก
เรือนรับรอง จำนวน ๔ หลัง กว้าง ๘.๐๐ เมตร ยาว ๑๔.๐๐ เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๕ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กแบบทรงไทย ปั้นหยา
เรือนเก็บพัสดุ กว้าง ๗.๓๐ เมตร ยาว ๘.๔๐ เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๕ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กชั้นเดียว
ห้องสมุด กว้าง ๘.๐๐ เมตร ยาว ๒๘.๐๐ เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๒ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กแบบทรงไทยชั้นเดียว
โรงเรียนพระปริยัติธรรม จำนวน ๑ หลัง เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก
เป็นอาคารโรงเรียนพระปริยัติธรรม ๔ ชั้น ขนาดชั้นละ ๕ ห้องเรียน ชั้นล่างใช้เป็นห้องโถง ประชุมใหญ่ สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๕ และได้ต่อเติมอาคารโรงเรียนพระปริยัติธรรมจากหลังเดิม อีก ๓ ชั้น เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๘ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก หลังคาทรงไทย

ปูชนียวัตถุ

ปูชนียวัตถุมีพระพุทธไสยาสน์ ยาวประมาณ ๑๐ วาเศษ รอยพระพุทธบาทจำลองข้างซ้าย ซึ่งกล่าวในศิลาจารึกว่า พระยาธรรมิกราช ได้นำมาจากลังกาทวีปมาประดิษฐานบนยอดเขาปากพระบาง ปัจจุบันประดิษฐานในวิหาร และเจดีย์ใหญ่สมัยสุโขทัย

วัดวรนาถบรรพต มีปูชนียวัตถุที่สำคัญซึ่งทางกรมศิลปากรได้นำขึ้นทะเบียนโบราณสถาน โบราณวัตถุ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๒ ตอนที่ ๗๕ วันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ คือ

๑. รอยพระพุทธบาทจำลองสมัยสุโขทัย
๒. เจดีย์บรรจุพระบรมธาตุ ๒ องค์ เป็นเจดีย์แบบทรงสุโขทัย
๓. วิหารและพระนอนใหญ่
๔. ต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่ได้นำมาจากพุทธคยา ประเทศอินเดีย ได้นำมาปลูกเมื่อวันเพ็ญ วิสาขบูชา พ.ศ. ๒๕๒๘
๕. พระอุโบสถหลังเก่า แบบโบราณ
๖. พระพุทธรูปปางมารวิชัย สมัยสุโขทัย หน้าตัก ๒๐ นิ้ว



ที่มา : วัดวรนาถบรรพต อ.เมือง จ.นครสวรรค์ ๒๘/๒/๒๕๕๓

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น